วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

++การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)


บทความ  :  การดำเนินคดีแบบกลุ่ม  (Class  Action)

                                การดำเนินคดีแบบกลุ่ม  (Class  Action)  เป็นรูปแบบการดำเนินคดีแทนผู้เสียหายจำนวนมาก  ที่มีมาย้อนอดีตไปในยุคกลางของอังกฤษโดยเป็นกระบวนการพิจารณาในศาลเอควิตี้  และมีการนำไปใช้และพัฒนาจนประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกา  โดยมีการกำหนดหลักการเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มไว้ใน  Rule  23  ของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มสำหรับคดีเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและคดีที่ขอให้ศาลสั่งห้ามกระทำการ  ซึ่งการดำเนินคดีแบบกลุ่มของประเทศสหรัฐอเมริกานี้  มีอิทธิพลแพร่หลายไปในประเทศกลุ่ม  Common  Law  เช่น  แคนนาดา  ออสเตรเลีย  และประเทศในกลุ่ม  Civil  Law  เช่น  จีน  อินโดนีเซีย
                                สำหรับประเทศไทยก็มีกฎหมายวีพิจารณาความแพ่งที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมากไว้อยู่บ้าง  แต่ก็ยังมีข้อจำกัดและไม่สามารถรองรับกรณีที่มีผู้เสียหายมากขึ้นกว่าคดีลักษณะเดิมๆ  ที่เคยเป็นมา  กล่าวคือ  ในกรณีที่มีผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากข้อเท็จจริงอันเดียวกันนั้นจะต้องเข้าร่วมดำเนินคดีด้วยตนเอง  (เช่น  คดีละเมิด  คดีผิดสัญญา  คดีเรียกร้องตามสิทธิที่เกิดขึ้นจากกฎหมายต่างๆ  เช่น  กฎหมายสิ่งแวดล้อม  กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค  กฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน  กฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  เป็นต้น)  และการที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในการพิจารณาคดีที่ต้องมีการแยกฟ้องแยกพิจารณาสืบพยาน  และผลของคำพิพากษาอาจไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  ทั้งที่เป็นผลของคำพิพากษาในเรื่องเดียวกัน  ต่อจำเลยคนเดียวกัน จากการกระทำอย่างเดียวกัน  แต่คำพิพากษาต่างกัน  เช่นนี้อาจก่อให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ขัดแย้งได้  เช่น  กรณีที่ผู้เสียหายหลายคนต่างฟ้องคดีจำเลยเพื่อขอให้มีการเพิกถอนสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์กับจำเลย  ศาลที่พิพากษาในแต่ละคดีอาจมีคำพิพากษาต่างกันออกไป  เช่น  ในคดีหนึ่งพิพากษาให้จำเลยเลิกสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์  แต่อีกคดีหนึ่งพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย  ดังนั้น  เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้จึงได้มีการนำหลักการเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มมาใช้  โดยนำหลักการส่วนใหญ่มาจากการดำเนินคดีแบบกลุ่ม  (
Class Action)  ตาม  Rule  23  แห่ง  Ferderal  Rules  of  Civil  Procedure  ของประเทศสหรัฐอเมริกา

 หลักการสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

                1. ความเหมือนกันของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของโจทก์เองและสมาชิกกลุ่ม

                                ความเหมือนกันของข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม  ซึ่งที่จะร้องขอให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มได้นั้นจะต้องปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน  และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน  แม้ว่าจะมีความเสียหายที่ต่างกันก็ตาม  ซึ่งสามารถแยกองค์ประกอบได้ดังนี้

1.1  สิทธิอย่างเดียวกันที่มาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน

                                ตัวอย่างเช่น  การจำหน่ายยาที่บกพร่องและมีผลข้างเคียงในตลาดมาเป็นระยะเวลา  4  ปีโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวยาและสูตรยาแต่อย่างใด  เมื่อผู้ใช้ยาได้รับผลกระทบจากความบกพร่องของยานั้นก็เกิดสิทธิที่จะเรียกร้องความเสียหายจากข้อเท็จจริงที่จำเลยได้จำหน่ายยาดังกล่าว  ลักษณะของสิทธิที่เกิดขึ้นนี้แม้ผู้เสียหายจะได้ซื้อยามาในระยะเวลาที่แตกต่างกัน  และซื้อยาจากสถานที่ต่างกันก็ตามแต่ก็ยังถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องความเสียหายนั้นเป็นสิทธิเดียวกัน  ที่มีข้อเท็จจริงเดียวกัน  และเป็นสิทธิที่อาศัยหลักกฎหมายเดียวกัน
                                แต่อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวยาและสูตรยาจากเดิมออกไป  ซึ่งกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่ม  เนื่องจากกลุ่มบุคคลนั้นจะต้องมีสิทธิเรียกร้องอย่างเดียวกันที่มาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน

                                2.2  ลักษณะเฉพะของกลุ่มเหมือนกัน  แม้จะมีลักษณะความเสียหายแตกต่างกัน

                                ตัวอย่างเช่น  การที่โรงงานปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำลำธาร  เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบเรื่องเดียว  ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีลักษณะเฉพาะจากการที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน  แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล  เช่น  บางคนอาจได้รับความเสียหายทางร่ากาย  บางคนอาจได้รับความเสียหายทางทรัพย์สิน  แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติเรื่องนี้ก็ถือว่าลักษณะของกลุ่มยังคงเหมือนเดิม  และผู้เสียหายก็ยังคงถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้

 2.  ผลของคำพิพากษา

                                ผลของคำพิพากษาจะผูกพันสมาชิกกลุ่มทุกคน  ซึ่งเป็นการยกเว้นหลักคำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความ  ตามมาตรา  145  แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                3.  การออกจากกลุ่ม

                                แม้จะมีการกำหนดความหมายของผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกกลุ่ม  และจะต้องผูกพันตามคำพิพากษาตามคำพิพากษาในคดีแบบกลุ่มก็ตาม  แต่สมาชิกกลุ่มก็มีสิทธิแสดงเจตนาต่อศาลในการขออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม  และไม่ประสงค์จะผูกพันตามคำพิพากษาในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม  โดยต้องการที่จะฟ้องคดีด้วยตนเองได้

                4.  การถอนฟ้อง

                                หลักการถอนฟ้องของการดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้น  กำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลเป็นผู้พิจารณาในทุกกรณีว่าสมควรอนุญาตให้ถอนฟ้องหรือไม่  โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสมาชิกกลุ่มเป็นสำคัญ  และต้องมีการแจ้งให้สมาชิกกลุ่มทราบเพื่อให้สมาชิกกลุ่มมีโอกาสคัดค้าน  เพราะถ้าปล่อยให้โจทก์ถอนฟ้องตามหลักกฎหมายทั่วไป  โจทก์อาจอาศัยการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้กับตน  เมื่อจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายก็ขอถอนคำฟ้อง  ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมาชิกกลุ่มที่เป็นบุคคลจำนวนมากได้

                5.  โจทก์ผู้แทนกลุ่มและทนายความโจทก์

                                ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม  โจทก์และทนายความโจทก์จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินคดี  ดังนั้น  โจทก์และทนายความโจทก์จะต้องมีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม  โดยศาลจะต้องคัดเลือกผู้ที่จะเป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์อย่างละเอียดรอบคอบ

                                อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นจะมีข้อดีอยู่หลายประการคือ  ทำให้ประชาชนที่มีส่วนได้เสียอาจได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องเข้ามาในคดีด้วยตนเองอย่างคดีสามัญ  และไม่มีการดำเนินคดีซ้ำซ้อนในเรื่องเดียวกันหลายครั้ง  ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐและประชาชนคำวินิจฉัยในเรื่องเดียวกันมีความเป็นเอกภาพ  ทำให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มในศาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  แต่การดเนินคดีแบบกลุ่มก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน  กล่าวคือ  วิธีการกำหนดสมาชิกของกลุ่มบางกรณีทำได้ยาก  การบอกกล่าวไปยังสมาชิกกลุ่มอาจไม่ทั่วถึงทำให้ผู้เสียหายบางส่วนไม่ได้รับการคุ้มครองซึ่งอาจมีผลเสียต่อสมาชิกกลุ่มได้  รวมทั้งการบังคับคดีในประเภทนี้มีความยุ่งยาก  เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก  และจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างจำกัด




ปฏิทิน